English Version

รู้จักการเรียนรู้แบบสองภาษา (Bilingual Education) ให้มากขึ้น

ตอนที่ 1 : สองภาษา-ทวิภาษา ความหมายในความหลากหลาย

             คำว่า “สองภาษา” เกิดจากการนำคำที่มีความหมายสองคำ คือ คำว่า “สอง” และคำว่า “ภาษา” มารวมกันเกิดเป็นคำว่า “สองภาษา” ซึ่งเป็นคำที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการการจัดการศึกษาของประเทศไทย โดยใช้เป็นคำแปลหรือคำที่ใช้แทนคำว่า “bilingual” ในภาษาอังกฤษ ความหมายกว้างๆ ของคำว่า “bilingual” ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในวงการศึกษาก็คือ “คนที่พูดหรือเขียนได้สองภาษา” หรือ “ความสามารถในการพูดหรือเขียนได้ดีทั้งสองภาษา”

             จากข้อความข้างต้น จึงนำมาสู่การให้ความหมายของคำว่า “การจัดการศึกษาแบบสองภาษา หรือ การเรียนการสอนแบบสองภาษา” (Bilingual Education/Bilingual Learning) ซึ่งมีการใช้อ้างอิงกันอยู่อย่างแพร่หลายในความหมายกว้างๆ ว่าเป็น “การจัดการศึกษาหรือจัดการเรียนการสอน โดยใช้ภาษาที่แตกต่างกันสองภาษาเป็นสื่อการเรียนการสอนในวิชาต่างๆ ในหลักสูตร โดยมีรูปแบบที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน และมีจุดมุ่ง หมายที่สำคัญคือ ทำให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาทั้งสองภาษาได้อย่างคล่องแคล่วมีประสิทธิภาพ”

             ในการจัดการเรียนการสอนแบบสองภาษานั้น โดยทั่วไปภาษาสองภาษาที่แตกต่างกันที่นำมาใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนประกอบด้วย ภาษาประจำชาติหรือภาษาแม่ (mother tongue) จะถูกกำหนดให้เป็นภาษาหลักหรือภาษาที่หนึ่ง (L1) ส่วนภาษาอื่นๆ ที่ต้องการพัฒนาให้ผู้เรียนสามารถใช้ได้คล่องแคล่วเหมือนการใช้ภาษาแม่ เช่นภาษาต่างประเทศ จะถูกกำหนดให้เป็นภาษาที่สอง (L2) การจะเลือกใช้ภาษาใดเป็นภาษาที่สอง (L2) ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นหรือความต้องการในการใช้ภาษาและบริบททางสังคมของแต่ละประเทศ

             วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบสองภาษา ถูกนำมาใช้ในการจัดการศึกษาอย่างแพร่หลายในโรงเรียนทั่วโลก ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา ประเทศต่างๆ ในยุโรป รวมถึงประเทศในเอเซีย เช่น ประเทศจีน เกาหลี และประเทศฮ่องกง เป็นต้น ในลักษณะที่หลากหลายตามจุดมุ่งหมายและบริบททางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างการเรียนการสอนแบบสองภาษาในประเทศต่างๆ ที่มีรูปแบบการจัดการและการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาอย่างชัดเจน ได้แก่ การเรียนภาษาสเปนและภาษาอังกฤษ (Spanish-English) ในประเทศสหรัฐอเมริกา การเรียนภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ (French-English) ในประเทศแคนาดา การเรียนภาษาจีนกลางและภาษาอังกฤษ (Mandarin-English) ในประเทศจีน การเรียนภาษากวางตุ้งและภาษาอังกฤษ (Cantonese-English) ในประเทศฮ่องกง เป็นต้น

             สำหรับประเทศไทยที่ภาษาอังกฤษกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ เนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์และการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในสมาคมประชาชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN การเรียนการสอนแบบสองภาษา (Bilingual Education) จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาของประเทศไทย การเรียนการสอนแบบสองภาษาในประเทศไทยมีลักษณะสำคัญคือ เป็นการเรียนที่ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่หนึ่ง (L1) และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (L2) เป็นสื่อในการเรียนรู้ควบคู่กันไปในหลักสูตรสองภาษา (Bilingual : Thai–English Curriculum) โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ เพื่อยกระดับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของนักเรียนไทย ให้สามารถใช้ภาษา อังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วเป็นธรรมชาติเทียบเท่าเจ้าของภาษา สามารถใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษาหาความรู้ในโลกกว้างไร้พรมแดนที่มีการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล เพื่อนำมาพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาพื้นฐานขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และความเป็นชาติไทย ไว้อย่างมั่นคง ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เมื่อมีกล่าวถึงการเรียนการสอนแบบสองภาษาในแนวทางที่กล่าวข้างต้น จึงควรมีการระบุภาษาทั้งสองภาษาที่เกี่ยวข้องกันคือภาษาไทยและภาษาอังกฤษไว้ด้วย เช่น ใช้ว่า การเรียนการสอนแบบสองภาษา (ภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ) หรือหลักสูตรสองภาษา (ภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ) เป็นต้น

             นอกจากคำว่า “สองภาษา” (bilingual) ตามความหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในปัจจุบันจะพบว่าเริ่มมีการนำคำว่า “ทวิภาษา” มาใช้แทนคำว่า “สองภาษา” ในความหมายของการจัดการศึกษาแบบสองภาษา (Bilingual Education) เพิ่มขึ้น จึงมักทำให้เกิดความสับสนว่า ความหมายของคำว่า “สองภาษา” และ “ทวิภาษา” เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร

             คำว่า “ทวิภาษา” เป็นคำแปลหรือคำที่ใช้แทนคำว่า “bilingual” ในภาษาอังกฤษ เช่น เดียวกับคำว่า “สองภาษา” ที่กล่าวมาแล้ว เนื่องจากคำว่า”ทวิ” เป็นคำในภาษาไทยที่แปลว่า สอง ดังนั้นคำว่า “ทวิภาษา” จึงมีความหมายที่เข้าใจง่ายได้ว่า สองภาษา การนำคำว่า “ทวิภาษา” มาใช้แทนคำว่า “สองภาษา” ก็อาจเนื่องมาจาก ความต้องการใช้คำในภาษาไทยให้หลากหลาย และทำให้มีรูปคำที่เป็นวิชาการมากขึ้น ดังนั้นเช่นเดียวกับการใช้คำว่า “สองภาษา” เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เมื่อมีการกล่าวถึงการเรียนการสอนแบบทวิภาษา ที่ใช้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นสื่อ ก็ควรมีการระบุภาษาทั้งสองภาษาที่เกี่ยวข้องคือภาษาไทยและภาษาอังกฤษไว้ด้วย เช่น ใช้ว่า การเรียนการสอนแบบทวิภาษา (ภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ) หรือหลักสูตรทวิภาษา (ภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ) เป็นต้น

             นอกจากนั้น ในการจัดการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ภาษาแบบสองภาษา ที่ไม่เฉพาะเจาะจงว่าใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่หนึ่ง (L1) และภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (L2) เช่นการจัดการศึกษาให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ไม่ได้พูดภาษาไทยในชีวิตประจำวันในประเทศไทย กลุ่มนักภาษาศาสตร์และนักวิชาการซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของการใช้ภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เหล่านั้น มักเรียกการจัดการศึกษาแบบสองภาษาในลักษณะนั้นว่าเป็น การจัดการศึกษาแบบทวิภาษา

             การจัดการศึกษาให้กลุ่มเด็กชาติพันธุ์ต่างๆ นั้น ในอดีตไม่ได้ใช้ภาษาแม่หรือภาษาท้องถิ่น ของเด็กเป็นสื่อในการเรียนการสอน หากแต่จะใช้สื่อการเรียนการสอนที่เป็นภาษาไทยราชการ ที่ผลิตจากส่วนกลางโดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลัก ทำให้นักเรียนที่ไม่ได้มีภาษาแม่เป็นภาษาไทยราชการส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับอุปสรรคทางภาษาในชั้นเรียน ทำให้ผลการเรียนตกต่ำ จึงได้มีความพยายามในการแก้ไข โดยจัดให้มีโครงการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษาขึ้น คือ การจัดการเรียนการสอนที่ใช้ภาษาสองภาษาเป็นสื่อการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยใช้ภาษาแม่หรือภาษาที่ใช้ในชุมชน เป็นภาษาที่หนึ่ง (L1) เป็นฐานในการเรียนรู้ ผ่านการฟังพูดและอ่านเขียน และเชื่อมโยงไปสู่ภาษาที่สอง (L2) ซึ่งก็คือภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาที่ต้องใช้ในโรงเรียนเมื่อเรียนสูงขึ้นและเป็นภาษาราชการ โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ ใช้ภาษาแม่และวัฒนธรรมของนักเรียนเป็นพื้นฐานและสื่อการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้และเชื่อมโยงสู่ภาษาราชการไทยและวัฒนธรรมไทยอย่างเป็นระบบ เป็นการเตรียมความพร้อมให้นักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เรียนอยู่ในชั้นอนุบาลและประถมศึกษา ให้สามารถใช้ภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว และสามารถรักษาอัตลักษณ์ของตนให้อยู่ร่วมกันกับสังคมส่วนอื่นๆ ได้อย่างสันติสุขท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตัวอย่างของการจัดการศึกษาแบบทวิภาษาที่กล่าวถึงนี้ ได้แก่ การจัดการเรียนรู้แบบทวิภาษา (ภาษาไทย-ภาษามลายู) ในเขตพื้นที่สี่จังหวัดชาย แดนภาคใต้

 

แหล่งอ้างอิงข้อมูล :
นันทวรรณ วัฒนวราห์. “การจัดการศึกษารูปแบบทวิภาษา : เพื่อความเป็นพหุนิยมหรือเพื่อการกลืนกลาย” คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Angel M. Y. Lin, (2009). “Bilingual Education : Southeast Asian Perspectives.” Hong Kong University Press.
Bilingual meaning in the Cambridge English Dictionary. สืบค้นจาก https://dictionary.cambridge. org/dictionary/English/bilingual
Bilingual Education Baeb Thai. สืบค้นจาก Sarasas Ektra School website : http://www.ektra.ac.th
Lynn Malarz, (2014). “Bilingual Education: Effective Programming for Language-Minority Students.” ASCD Publication.