การเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้ภาษาที่สองให้ลูกน้อยตั้งแต่วัยเยาว์
ถือเป็นสิ่งจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้
        การเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้ภาษาที่สองให้ลูกน้อยตั้งแต่วัยเยาว์ ถือเป็นสิ่งจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในสภาพการณ์โลกปัจจุบัน ที่ภาษาที่สองหรือมากกว่านั้น ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันในแง่ของการติดต่อสื่อสาร ดังนั้นการเรียนรู้ภาษาที่สองหรือมากกว่าจึงมีความสำคัญ ยิ่งเด็กๆเริ่มต้นเรียนรู้เร็วเท่าไร ความสามารถในการจดจำและแยกแยะเสียงและเอกลักษณ์ต่างของภาษาอื่นๆของพวกเขาก็จะยิ่งง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกันกับบทความ “The Power of the Bilingual Brain” โดย เจฟฟรี่ คลูเกอร์ (Jeffrey Kluger) ในนิตยสาร Time ฉบับเดือนกรกฎาคม 2556 ที่ได้หยิบยกตัวอย่างผลงานการวิจัยต่างๆ ขึ้นมา เพื่อตอกย้ำความเชื่อที่ว่าการเรียนรู้สองภาษาหรือมากกว่านั้น ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าเร็วเกินไป ทั้งยังมีข้อดีและประโยชน์ต่างๆมากมายต่อเด็กอีกด้วย และที่สำคัญคือสามารถเริ่มเรียนรู้ได้ตั้งแต่ยังเป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดา
       
ในบทความ “The Power of the Bilingual Brain” ครูเกอร์ ได้ยกตัวอย่างผลงานวิจัยต่างๆที่น่าสนใจเพื่อแสดงให้เห็นถึงข้อดีสำหรับเด็กที่ใช้สองภาษาหรือมากกว่า จากผลการวิจัยการเรียนภาษาของนักเรียนชั้นประถมจากโรงเรียนที่สอนหลายภาษา โดยให้นักเรียนใช้เวลา 100% ไปกับการเรียนภาษาที่สอง หรือมากกว่า (Total Immersion) ในรัฐยูท่าห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อค้นหาพัฒนาการทางด้านสมองที่แตกต่างกันระหว่างเด็กที่เรียนรู้ได้หลายภาษา (Polyglot Brain) และเด็กที่เรียนรู้ภาษาเดียว (Monolingual) ผลการวิจัยปรากฏว่า สมองของเด็กที่ใช้ได้หลายภาษานั้น มีข้อแตกต่างที่เป็นประโยช์ และส่งผลดีต่อเด็กในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่ใช้ได้หลายภาษาจะมีความคิดที่ยืดหยุ่นเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า, สามารถทำงานที่หลากหลายได้มากกว่า, รวดเร็วกว่า, มีความจำที่ดีกว่า และมีความคิดที่สร้างสรรค์กว่าเด็กที่ใช้ภาษาเดียว
เด็กนักเรียนชั้น ป.1 ในรัฐยูทาห์กำลังฟัง ควบคู่ไปกับการอ่านภาษาจีนแมนดาริน
       
ด้วยประโยชน์และข้อดีต่างๆมากมายของเด็กที่สามารถใช้หลายภาษา กอรปกับการแข่งขันทางด้านต่างๆ ในโลกปัจจุบัน ที่ภาษาถือเป็นข้อได้เปรียบไม่ว่าในในเชิงของเศรษฐกิจ การศึกษา ฯลฯ ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กๆเรียนรู้ภาษาที่สองหรือมากกว่า โดยสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะความสามารถในการรับรู้ทางภาษาของเด็กนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา ซึ่งในบทความได้กล่าวไว้ว่าระยะที่สามของการตั้งครรภ์ ทารกจะเริ่มพัฒนาทักษะทางการได้ยิน และทำความคุ้นเคยกับภาษาจากเสียงของแม่โดยตรง ดังผลการวิจัยที่ว่าทารกอายุ 3 วันหรือต่ำกว่า ที่แม่ใช้สองภาษานั้นจะสามารถตอบสนองต่อการรับรู้ได้ดีกว่าทารกที่แม่ใช้เพียงภาษาเดียว นอกจากนั้นครูเกอร์ยังยกตัวอย่างผลการวิจัยที่ค้นหาช่วงของการตอบสนองต่อการรับรู้ภาษาอื่นๆในเด็กช่วงอายุถัดมา ในวัย 4 เดือน ผลปรากฏว่าเมื่อเด็กที่มาจากครอบครัวที่ใช้ภาษาเดียวก้าวเข้าสู่วัย 8 เดือนขึ้นไป เด็กจะเริ่มไม่สนใจ และไม่ตอบสนองในภาษาอื่น แต่จะให้ความสนใจเฉพาะภาษาที่ตนเองคุ้นเคยเท่านั้น ในขณะที่เด็กวัยเดียวกันจากครอบครัวที่ใช้สองภาษาหรือมากกว่าจะมีภาวะ “หัวไว” (Nimble Brain) ซึ่งครูเกอร์อธิบายว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสลับการใช้ภาษาไปมาระหว่างภาษาที่หนึ่งและสองอย่างรวดเร็ว ทำให้สมองเกิดการเชื่อมโยงระหว่างองค์ประกอบในส่วนต่างๆ รวมไปถึงช่องว่างระหว่างเซลล์สมอง (Synapse) จนสัมพันธ์กัน ทำให้กระบวนการรับรู้ (Cognitive) และกระบวนการใช้พลังงาน (Calorically) ของสมองมีความแข็งแรง และพัฒนาจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากผลการวิจัยต่างๆเหล่านี้ ล้วนเป็นข้อยืนยันถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ภาษาที่สองหรือมากกว่านั้นของเด็ก ซึ่งควรเริ่มตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์มารดา
แสดงการทำงานของเซลล์สมองที่มีปลายประสาทพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับเซลล์อื่นตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 80 ปี
        นอกจากนี้ในบทความยังมีภาพประกอบที่น่าสนใจ ที่แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของพัฒนาการสมองทางด้านการเรียนรู้หลายภาษาในวัยต่างๆ ซึ่งอ้างอิงมาจากผลงานการวิจัยของสถาบัน Center on the Developing Child Harvard University ที่อธิบายถึงภาวะหลายภาษา(Multilingualism) ว่าเป็นทักษะตลอดชีพ แต่ต้องเริ่มเรียนรู้โดยเร็ว ซึ่งสถาบันฯ ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่าทารกที่อายุครรภ์ 6 เดือนขึ้นไปนั้น สามารถเรียนรู้และจดจำเสียง สำเนียงการพูดของมารดาผ่านการได้ยินได้ เพียงแต่ยังพูดไม่ได้เพราะกล่องเสียงยังไม่พัฒนา แต่สมองของพวกเขานั้นพัฒนาเรียนรู้ได้โดยตลอด และเมื่อคลอดแล้วช่วง วัย 2 เดือนไปจนถึง 3 ขวบ เด็กจะเริ่มจดจำและแยกความแตกต่างของภาษาแม่กับภาษาอื่นได้ หากแม่พูดได้ 2 ภาษาเด็กก็จะจำได้ทั้ง 2 ภาษา แต่เมื่ออายุย่างเข้าสู่ปีที่ 6-16 นั้น ระบบสมองในส่วนความสามารถในการจดจำอัตลักษณ์ทางภาษาของเด็กจะเริ่มช้าลง ซึ่งสาเหตุมาจากปฏิกิริยาคัดสรรของสมองที่เริ่มกำจัดจุดเชื่อมประสาทที่ไม่ได้ใช้ออกไปตามธรรมชาติ ทำให้เซลล์สมองมีการจัดเรียงตัวเป็นลักษณะร่างแห เป็นกลุ่มก้อน เป็นวงจร เฉพาะส่วนที่ใช้งานเท่านั้น สมองจึงเกิดการทำงานที่รวดเร็วขึ้น แต่ในทางกลับกันหากสมองได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาอย่างถูกต้อง แขนงของเซลล์สมองแต่ละเซลล์จะทำหน้าที่เชื่อมประสานกัน เพื่อก่อให้เกิดเป็นหน่วยความจำเก็บอยู่ในส่วนความทรงจำถาวรของสมอง แทนที่จะถูกกำจัดทิ้งไป ซึ่งนั้นเป็นเหตุผลของข้อเท็จจริงที่ว่า ทักษะการเรียนรู้ภาษาที่สองหรือมากกว่านั้น สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ให้เหมาะสมตามธรรมขาติของเด็กในแต่ละช่วงวัย จนกระทั่งกลายมาเป็นทักษะตลอดชีพของเด็กแต่ละคนได้ในที่สุด
        หากท่านใดสนใจและต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับข้อดีและประโยชน์ที่เด็กๆจะได้รับจากการเรียนรู้ภาษาที่สองหรือมากกว่า และการเรียนรู้ที่เริ่มเรียนในวัยผู้ใหญ่ อีกทั้งผู้ใหญ่จะสามารถช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของพวกเขาได้ด้วยวิธีใดบ้างนั้น สามารถเข้าไปอ่านบทความเต็มได้จากนิตยาสาร Time ฉบับดังกล่าว ซึ่งนอกเหนือจากที่นำเสนอมาแล้วนั้น ในบทความยังมีการนำเอาผลการวิจัยอื่นๆอีกมากมายที่น่าสนใจมานำเสนอให้ได้อ่านอีกด้วย
บทความเรื่อง “The Power of the Bilingual Brian” โดย เจฟฟรี่ คลูเกอร์ (Jeffrey Kluger) นิตยสาร Time ฉบับเดือนกรกฎาคม 2556