What is Bilingualism? (ภาวะสองภาษาคืออะไร)
บทความโดย สมาคมโรงเรียนเอกชนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอน
        คำจำกัดความของคำว่า “ภาวะสองภาษา” นักวิจัยหลายท่านได้พยายามศึกษาและค้นคว้าเพื่อหานิยาม หรือคำจำกัดความที่ชัดเจนสำหรับคำนี้ หากแต่ที่ผ่านมานั้น ยังคงไม่มีคำอธิบายใด ๆ ที่เหมาะสม และสามารถ ใช้อ้างอิงหรือให้คำจำกัดความแก่คำนี้ได้อย่างสมบูรณ์โดยแท้จริง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาหลายท่าน ได้ตีกรอบความหมายของคำว่า “ภาวะสองภาษา” ที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป ซึ่งบางครั้งคำจำกัดความ หรือความหมายที่ได้ก็มักจะตรงกันข้ามกับมุมมองของนักวิจัยท่านอื่น ๆ สาเหตุของปรากฏการณ์เหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้จากความยืดหยุ่นของแนวคิดการใช้สองภาษา ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา
        ภาวะสองภาษา นั้น ครอบคลุมตั้งแต่การที่บุคคล ๆ หนึ่ง มีความสามารถในการฟังเข้าใจ และพูดภาษาที่สองได้ดีพอๆ กับภาษาแม่ในระยะเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะอ่านเขียนได้หรือไม่, อ่านแล้วจับใจความได้ดีแค่ไหน หรือเขียนได้ดีแค่ไหน เพียงแค่สื่อสารแล้วเข้าใจ ไม่จำเป็นว่าจะเรียนรู้ภาษาแรกก่อนนานเท่าไหร่ หรือจะเรียนรู้ทั้งสองภาษาไปพร้อมกัน ก็เรียกว่าเป็นบุคคลสองภาษาได้แล้ว
        ตามที่พจนานุกรมด้านจิตวิทยาฉบับของคอรสินี (Corsini, 1972,p. 163) ให้ความหมายของบุคคลสองภาษา หรือทวิภาษาไว้ว่า หมายถึงบุคคลที่รู้ทั้งสองภาษาดีพอ ๆ กัน และสามารถใช้ภาษาทั้งสองได้ตามโอกาสที่เหมาะสมอย่างมีประสิทธิภาพ,ต่อเนื่อง และสอดคล้องกันทั้งสองภาษา เช่นเดียวกันกับสมาคม American Speech Language Hearing Association (ASHA, 2009) ที่ได้ให้ความหมายของบุคคลสองภาษาไว้ว่า หมายถึง บุคคลที่มีความสามารถในการสื่อสารสองภาษา หรือมากกว่าได้เป็นอย่างดีในระดับที่เท่าเทียมกัน หรือมีความสามารถในการใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งในสองภาษา หรือมากกว่านั้นได้เป็นอย่างดี
        จากที่กล่าวมาจึงพอจะสรุปได้ว่า บุคคลสองภาษา หมายถึง "บุคคลที่พูดหรือเขียนได้สองภาษา” หรือ “ความสามารถในการพูดหรือเขียนได้ดีทั้งสองภาษา” โดยอาจเรียนรู้ภาษาแม่หรือภาษาที่หนึ่งอย่างเป็นธรรมชาติและใช้มาตั้งแต่เกิด ก่อนที่จะมาเรียนรู้ภาษาที่สองในภายหลัง หรือ อาจเรียนรู้ทั้งสองภาษาไปในเวลาเดียวกัน
Forms of Bilingualism (รูปแบบของภาวะสองภาษา)
        รูปแบบหลักของภาวะสองภาษาสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ 1. การเรียนสองภาษาไปพร้อมกัน เช่น เรียนภาษาที่หนึ่งจากพ่อ และเรียนอีกภาษาหนึ่งภาษาจากแม่ 2. การเรียนภาษาที่หนึ่งก่อน แล้วจึงเรียนภาษาที่สองในภายหลัง (Wolman, 1975, p.126) ซึ่งทั้งสองลักษณะนั้นสอดคล้องกับผลงานวิจัยของ สายสวลี วิทยาภัค (2539, หน้า 14) ที่กล่าวถึงเด็กสองภาษาไว้ว่า หมายถึง เด็กที่ใช้ภาษาที่หนึ่งตั้งแต่เริ่มหัดพูดและใช้ตลอดมาในชีวิตประจำวันเป็นภาษาที่หนึ่งหรือภาษาแม่ โดยสืบทอดและเรียนรู้โดยกระบวนการที่เป็นไปอย่างธรรมชาติจากการเลี้ยงดูของครอบครัว ต่อมาเด็กจึงได้เรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ ซึ่งเป็นภาษาที่สอง จากกระบวนการสอนที่เป็นระบบภายหลังจากที่ได้เรียนรู้ภาษาแม่แล้ว ซึ่งรูปแบบของภาวะสองภาษาในแต่ละบุคคลนั้น ย่อมแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยและสิ่งแวดล้อมในการเลี้ยงดูในวัยเยาว์ของแต่ละคน
6 Types of Bilingualism (ภาวะสองภาษา 6 ประเภท)
        การที่บุคคลหนึ่งจะมีภาวะสองภาษาได้นั้น ก็เนื่องด้วยเหตุผลและปัจจัยที่หลากหลาย และแตกต่างกันออกไป เช่น เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ, สถานการณ์ทางสังคมหรือเศรษฐกิจ, รวมไปถึงปัจจัยทางด้านวัฒนธรรม, การล่าอาณานิคมในอดีต หรือแม้กระทั่งความหลากหลายทางการศึกษา การแบ่งประเภทของภาวะสองภาษาจึงสามารถแบ่งแยกได้จาก ลักษณะความสามารถ ความถนัด และความคล่องแคล่วในการใช้ภาษาที่หนึ่ง และสองในแต่ละลักษณะ ดังนี้        1. Semi-bilingual คือ ภาวะสองภาษา ที่สามารถสื่อสารได้ แต่ได้ไม่ดีทั้งสองภาษา กล่าวคือ พูดได้ ฟังได้ แต่อ่านหนังสือเรียนที่ยากๆ ไม่ได้ และจับใจความสำคัญไม่ค่อยได้
        2. Passive Bilingualism คือ ภาวะสองภาษา แบบที่ไม่สามารถพูดโต้ตอบได้ หมายถึง ความสามารถในการฟังและเข้าใจภาษาที่สอง หากแต่ไม่สามารถใช้ในการสื่อสาร หรือโต้ตอบด้วยทักษะการพูดได้ ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่ตอบสนองต่อเรื่องราวต่างรอบตัวโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ เมื่อพวกเขาอยู่ในวงสนทนาด้วยภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นภาษาที่สองในลักษณะสองภาษาชนิดนี้ พวกเขาจะพูดโต้ตอบโดยใช้ภาษาอังกฤษ เนื่องจากพวกเขาไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านการแสดงออกด้วยทักษะการพูดในภาษาฝรั่งเศส
        3. Compound Bilingual (Sequential) / Dominant Bilingual หมายถึง ภาวะสองภาษา ที่บุคคลหนึ่ง เรียนรู้ภาษาต่างประเทศเป็นภาษาที่สอง บุคคลสองภาษาในลักษณะนี้ จะสื่อสารด้วยภาษาที่ใช้บ่อยกว่า จากสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมที่จำเป็น หรือบีบบังคับให้ต้องใช้ภาษานั้น ๆ ได้ดีกว่าอีกภาษาหนึ่ง โดยพวกเขาจะคิดเป็นภาษาที่สองก่อน แล้วค่อยประมวลออกมาเป็นภาษาแรก แล้วจึงพูดออกมาเป็นภาษาที่สอง
        4. Co-ordinate Bilingual (Simultaneous) หมายถึง ภาวะสองภาษา ที่ได้มาในเวลาเดียวกัน จากการที่บุคคลหนึ่งได้รับการเลี้ยงดู และเติบโตมาในครอบครัวที่ใช้สองภาษาหรือมากกว่าตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งเด็ก ๆ จะเรียนเรียนรู้ทั้งภาษาที่หนึ่งและสองไปพร้อมกันภายในบ้าน ผ่านกระบวนการการซึมซับแต่ละภาษาจากกการได้ยินคนรอบข้างใช้สื่อสาร เช่น ครอบครัวที่บิดาพูดภาษาอังกฤษ และมารดาพูดภาษาไทย บุคคลสองภาษาลักษณะนี้สามารถคิดเป็นภาษาที่เขาต้องการที่จะพูดหรือสื่อสารได้เลย แต่ถึงแม้ว่าบุคคลที่มีภาวะสองภาษาลักษณะนี้จะได้รับการพัฒนาทางด้านภาษาอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ทว่าจะยังไม่สมบูรณ์แบบเหมือนเจ้าของภาษาทั้งสองภาษา
        5. Additive bilingualism / Balanced Bilingual คือ ภาวะสองภาษา ที่บุคคลหนึ่ง สามารถสื่อสารได้ดีทั้งสองภาษาในระดับที่สมดุลกัน โดยมีความเชี่ยวชาญครบทั้ง 4 ทักษะ คือ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนได้เสมือนดั่งเป็นเจ้าของภาษา ซึ่งภาวะสองภาษาในลักษณะนี้ถือเป็นภาวะสองภาษาที่แข็งแกร่ง
        6. Ambi-bilingual/ Equilingual คือ ภาวะสองภาษา ที่มีภาษาแรกเป็นทั้งสองภาษา กล่าวคือ สามารถฟัง พูด อ่าน เขียนได้ทั้งสองภาษาถูกต้องตามโครงสร้างทางภาษาและสำเนียงที่ไม่ผิดเพี้ยน เขียนเรียงความได้ อ่านหนังสือเรียนที่มีเนื้อหายาก ๆ
        จากประเภทของภาวะสองภาษาทั้ง 6 ลักษณะดังที่กล่าวมา ท่านผู้อ่านลองประเมินดูว่าบุตรหลานของท่านนั้น อยู่ในภาวะสองภาษาในประเภทใด เพราะเมื่อเราเข้าใจถึงลักษณะของภาวะสองภาษาในแต่ละประเภทแล้ว เราจะสามารถต่อยอด พัฒนา และเลือกรูปแบบการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ได้อย่างเหมาะสม เพื่อประโยชน์และผลสัมฤทธิ์สูงสุดของพวกเขา ที่ถือเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต
BILINGUAL CHILDREN: STARTING FROM PRE-SCHOOL AGE เด็กสองภาษา: สร้างได้ในวัยอนุบาล โดย อรุณี หรดาล
วิทยานิพนธ์ตามหลักสูตรศิลปะศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง กรณีศึกษาลักษณะการออกเสียงและการแทรกซ้อนทางระบบเสียงของภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเด็กทวิภาษาไทย-อเมริกัน อายุ 3-5 ปี โดย บุปผา เสโตบล
เลี้ยงเด็ก 2 ภาษา ไม่ให้เป็นแบบไทยไม่ค่อยจะได้ อังกฤษก็ไม่ค่อยจะดี
Types of Bilingualism
The 6 types of Bilingual
การใช้ชุดกิจกรรมทางภาษาเพื่อพัฒนาความสามารถทางภาษา ของนักเรียนชาวเขาระดับก่อนประถมศึกษา โดย สายสวลี วิทยาภัค