ความหลากหลายของภาษาอังกฤษ (English Variety)
        ในปัจจุบัน ภาษาอังกฤษได้เปลี่ยนสถานภาพเป็น “ภาษาสากล” (Global Language) หรือ “ผู้นำภาษาโลก” (World Leading’s Language) เนื่องจากการใช้ภาษาอังกฤษนั้นได้แพร่หลายไปทั่วโลก ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มของเจ้าของภาษาเท่านั้น ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากบทบาทสำคัญของภาษาอังกฤษในการเชื่อมสังคม วัฒนธรรม การศึกษา และเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่าง ๆบนโลกใบนี้ ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักเข้าไว้ด้วยกันในฐานะภาษากลาง (Crystal, 2003) ด้วยเหตุนี้ ภาษาอังกฤษจึงมีความหลากหลายในแง่ของรูปแบบการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคม ประวัติศาสตร์ และภูมิประเทศของประเทศนั้น ๆ
        ด้วยความหลากหลายของภาษาอังกฤษ (English Variety) นักภาษาศาสตร์ชาวอินเดีย Braj Kachru จึงได้นำเสนอทฤษฎี “World Englishes” หรือ “Three Concentric Circles Theory” ขึ้นในปี ค.ศ.1985 เพื่อชี้ให้เห็นว่ามีการแบ่งแยกภาษาอังกฤษออกเป็น 3 วงกลมมีจุดศูนย์กลางเดียวกัน โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการแบ่งกลุ่มนั้น ขึ้นอยู่กับบริบททางประวัติศาสตร์ สถานะ และบทบาทของภาษาอังกฤษในภูมิภาคที่หลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยเริ่มจากกลุ่มประเทศในวงกลมขนาดเล็กสุดซึ่งอยู่ชั้นในสุด ไปยังวงกลมขนาดใหญ่สุดที่อยู่วงนอกสุด ได้แก่ กลุ่มประเทศวงใน (Inner Circle) วงนอก (Outer Circle) และวงขยาย (Expanding Circle) ซึ่งสามารถดูได้จากภาพประกอบ
       
1) กลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก จัดอยู่ในวงกลมวงเล็กและอยู่ด้านในสุด (Inner Circle) เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา คือกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ (Native English Speaking Countries: ENL)
2) กลุ่มประเทศที่ในอดีตตามประวัติศาสตร์เคยตกเป็นอาณานิคมของประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่มาก่อน หากแต่ภาษาอังกฤษมีความสำคัญในด้านการศึกษา ใช้เป็นภาษาราชการ และถูกซึมซับส่งผ่านความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม และภาษา กลุ่มประเทศเหล่านี้จัดอยู่ในวงกลมรอบนอก (Outer Circle) เช่น อินเดีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไนจีเรีย ซึ่งล้วนแต่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (English as Second Language: ESL)
3) กลุ่มประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตก และใช้ภาษาอังกฤษในบริบทของการดำเนินงานทางธุรกิจ การศึกษา และเทคโนโลยี ซึ่งจัดอยู่ในวงกลมส่วนขยาย (Expanding Circle) เช่น ญี่ปุ่น จีน ไทย และตุรกี ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศ (English as Foreign Language: EFL) โดยยึดมาตรฐานของเจ้าของภาษาเป็นหลัก (Standard English)
        อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์หลายคนได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของแนวคิดของ Kachru โดยให้เหตุผลว่าแนวคิดดังกล่าวนั้น ยึดติดกับหลักภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์มากเกินไป ซึ่งในเวลาต่อมา Larry E. Smith (1976) ได้เริ่มเรียกภาษาอังกฤษว่า “ภาษานานาชาติ” หรือ English as International Language (EIL) คือ ภาษาอังกฤษในฐานะภาษาสากล สาเหตุที่ใช้คำว่า “ภาษานานาชาติ” ก็เพื่อบอกถึงสถานภาพของภาษาอังกฤษในฐานะที่เป็นภาษาสากล สำหรับใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้คนทั่วทุกมุมโลก และด้วยสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว กอปรกับนักวิชาการหลายท่านได้นำเสนอแนวคิดใหม่ ที่คล้ายคลึงกับ EIL เช่น นักวิชาการในยุโรปเรียกว่า “ภาษาอังกฤษในฐานะภาษากลางสำหรับการสื่อสาร” หรือ English as a Lingua Franca (ELF) ซึ่งหมายถึงการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลที่มีภาษาแม่แตกต่างกัน (Dewey, 2007; Jenkins, 2000; Seidlhofer,2001) หรือบางคนเรียกว่า “ภาษาอังกฤษในฐานะภาษาของโลก” (English as a global or world language) (Crystal, 2003)
        สำหรับภาษาอังกฤษในประเทศไทยนั้น ถือเป็นที่รู้จักและยอมรับในรูปแบบของภาษาต่างประเทศ ทีมี่บทบาทสำคัญและจำเป็นทั้งในด้านการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้นการศึกษาในหลักสูตรสองภาษา หรือโรงเรียนสองภาษาที่นำภาษาอังกฤษมาใช้เป็นภาษากลางในสื่อการสอน จึงได้รับความนิยม ส่งเสริม และสนับสนุนทั้งจากภาครัฐบาลและเอกชน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญและเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลที่สนใจจะพัฒนาทักษะทางด้านภาษาเพื่อเป็นกุญแจสำคัญในการไขประตูสู่โลกกว้าง
Crystal, D. (2003). English as a global language. (2nd ed). Cambridge: Cambridge University Press.
Dewey, M. (2007). English as a Lingua franca: an empirical study of innovation in lexis and grammar. Unpublished Ph.D. Thesis, King’s College London.
Jenkins, J. (2000). The phonology of English as an international language, Oxford University Press
Kachru, Braj.B. (1985) World Englishes and Applied Linguistics.
Seidlhofer, B. (2001). Closing a conceptual gap: the case for a description of English as a lingua franca. International Journal of Applied Linguistics. 11 (2): 133-58.
Larry E. Smith (1976). The Handbook of World Englishes edited by Braj B. Kachru, Yamuna Kachru, Cecil Nelson. 24: (428-432)